19 ตุลาคม 2552

การตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเอดส์

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอเล่าข่าวที่น่าสนใจ 2 เรื่อง สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างเรา

เรื่องแรก เกี่ยวกับวัคซีนเอดส์ที่ไทยกับสหรัฐร่วมกันทดลอง ตอนนี้ในต่างประเทศถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความหวังในการคิดค้นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งประเทศต่าง ๆ อาจจะมีการการคิดค้นวัคซีนโดยต่อยอดจากการทดลองครั้งนี้

เรื่องที่สอง พบว่า ในหัวฝักบัว มีเชื้อโรคอยู่มาก การอาบน้ำด้วยฝักบัว อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคในอากาศ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ทีมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนที่มีค่าซีดีโฟร์ต่ำ ๆ ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยฝักบัว จริง ๆ แล้ว รู้สึกว่าเขาจะแนะนำให้เปลี่ยนหัวฝักบัวเป็นหัวฝักบัวโลหะแทนพลาสติก รายละเอียดติดตามได้ใน "หัวฝักบัว" แหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย

จากการเข้าเป็นสมาชิกบ้านฟ้า คำถามประเภทหนึ่งที่พบมากคือ ปัญหาของผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงแต่เข้าใจว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ..ผมจะเป็นเอดส์มั้ย คนถาม ถามเพราะเครียด วิตกกังวล สับสน ฯลฯ ตรงนี้ผมเข้าใจ แต่บางครั้ง คำถามฟังดูแล้วเกิดจากการวิตกกังวลเกินเหตุ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้พวกเราที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งปกติต้องการความเข้าใจ การยอมรับ จากคนทั่วไปในสังคม จะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด เพราะคำถามแสดงถึงความไม่เข้าใจ.. ว่าการติดเชื้อเอชไอวี ถ้าไม่มีพฤติกรรมที่เสี่ยง มีปัจจัยต่าง ๆ ในการติดเชื้อเอชไอวีครบ ก็ไม่ใช่ว่าติดกันได้ง่าย ๆ จากการใช้ชีวิตทั่วไปในชีวิตประจำวันร่วมกัน และจากข้อมูลที่ผมเคยอ่านมา ยังไม่เคยเจอกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเอชไอวี จากการรักษาผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีเลย แม้แต่คนเดียว เหมือนกับที่เพื่อน ๆ แนะนำ เราไม่สามารถรู้ว่า คนไหนติดเชื้อเอชไอวี ได้ด้วยการมองเห็น เราจะรู้ว่า คนไหนติดเชื้อเอชไอวี ได้จากผลเลือดเท่านั้น เราอาจจะรู้ว่า คนนั้นมีอาการของผู้ป่วยเอดส์ หากผู้ติดเชื้อไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ และไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย โดยเฉลี่ย จะแสดงอาการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หลังจากติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉลีย 7 - 10 ปี แต่ก่อนหน้านั้นล่ะ.. เฮ้อ ไม่อยากคิด ในปัจจุบัน วิทยาการการแพทย์ก้าวหน้าจนสามารถตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีได้ไวขึ้น
ในปัจจุบันคลีนิคนิรนามจะตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้ผู้มาใช้บริการทุกคน โดยใช้ 2 วิธีร่วมกัน คือ แอนติ-เอชไอวี (anti-HIV) และ แน็ท (NAT)
ในปัจจุบันคลีนิคนิรนามจะตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้ผู้มาใช้บริการทุกคน โดยใช้ 2 วิธีร่วมกัน
  • วิธีที่1 คือการตรวจ แอนติ-เอชไอวี (anti-HIV) ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิต่อเชื้อเอชไอวีซึ่งจะตรวจพบได้หลังการติดเชื้อ 14-21 วัน วิธีนี้จะรู้ผลภายในวันเดียวกันโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงในการรอผล
  • วิธีที่ 2 คือการตรวจ แน็ท (NAT) ซึ่งเป็นการตรวจหาสายพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี จึงมีความไวกว่าการตรวจแอนติ-เอชไอวี และสามารถใช้ตรวจหาการติดเชื้อที่เพิ่งรับมาประมาณ 5 วันขึ้นไปได้ วิธีนี้จะรู้ผลภายใน 3 วัน ทำให้ยืนยันได้ว่าผลเลือดลบจากวิธีที่ 1 เป็นลบจริงหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าคุณเพิ่งเสี่ยงมา
ประโยชน์ของการรู้ว่าตัวคุณเองเพิ่งมีการติดเชื้อเอชไอวี คือ คุณอาจได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว เพื่อพยายามลดการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วร่างกาย และป้องกันการทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่าง รุนแรงในช่วงแรกนี้ได้ นอกจากนี้ จะยังทำให้ลดโอกาสที่คุณอาจจะส่งผ่านเชื้อเอชไอวีต่อไปแก่คนที่คุณรักโดยไม่ ได้ตั้งใจได้อีกด้วย
ขอบคุณ แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ที่มา : NAT-แน็ท การตรวจเลือดวิธีใหม่ เพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่เครียด วิตกกังวล สงสัย ผลการตรวจเลือดเท่านั้น ที่จะบอกได้ว่า คุณเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเปล่า..

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากเส้นเลือดแดงหัวใจแข็ง ตีบ ตัน ขาดความอ่อนนิ่ม ยืดหยุ่น เส้นเลือดหัวใจเป็นตะคริวจนตีบหรือตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด ทำให้หัวใจได้รับเลือดหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

อันตรายของโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากเส้นเลือดแดงหัวใจแข็ง ตีบ ตัน ขาดความอ่อนนิ่ม ยืดหยุ่น เส้นเลือดหัวใจเป็นตะคริวจนตีบหรือตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด ทำให้หัวใจได้รับเลือดหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

ความรุนแรงของโรคนี้เป็นภัยเงียบ ถ้าเป็นไม่มากหรือเส้นเลือดหัวใจตีบไม่ถึง 100% ร่างกายจะยังสามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆในระดับการมีกิจกรรมปกติ แต่อาจมีอาการเหนื่อยให้เห็นบ้าง ถ้าต้องออกแรงมากขึ้น แต่เมื่อใดที่ผนังเส้นเลือดตีบตัน จนถึง 100% เลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) จนทำให้เสียชีวิตกระทันหันได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกๆ ของโลกและของประเทศไทย นอกจากนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นเหตุทำให้มีความเสียหายทางเศรษฐกิจ เป็นอย่างมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียความสามารถในการทำงาน

การรักษาโรคนี้ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยา ต้องผ่าตัดโดยการตัดต่อเส้นเลือด (Coronary artery bypass graft) หรือ สวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เพื่อขยายเส้นเลือด เท่านั้น ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยไปจนถึงการผ่าตัด ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Non-modifiable Risk Factors)
  • อายุ (Age) ที่มากขึ้นทำให้ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น
  • เพศ (Gender), ผู้ชายจะมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้หญิง[1]
  • พันธุกรรมและมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ (Modifiable Risk Factors)
  • การสูบบุหรี่ (Tobacco smoking)
  • ภาวะต้านอินซูลินและเบาหวาน (Insulin resistance & Diabetes mellitus)
  • ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ภาวะอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • ไม่ออกกำลังกาย/วิถีชีวิตที่นั่งทำงานเป็นส่วนใหญ่ (Physical inactivity/Sedentary lifestyle)
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม กินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
  • ภาวะเครียด (Stress)
  • ภาวะซึมเศร้า (Depression)
จะเห็นได้ว่า สาเหตุของความเสี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากลักษณะของการดำรงชีวิตตลอดจน พฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคมปัจจุบันที่ไม่สมดุล การมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ค่อยได้ออกแรง ทุกๆวันใช้ชีวิตแบบรีบเร่ง กินอาหารจานด่วนที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีไขมันสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกาย รับประทานผักและผลไม้น้อยลง หรือแม้จะรับประทานมากก็เต็มไปด้วยสารพิษ จึงทำให้ความเสี่ยงต่างๆข้างต้นมีมากขึ้น

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
โรคติดเชื้อเอชไอวีแม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การพัฒนาสูตรยาต้านไวรัสแบบ 3 ตัว (High Active Antiretroviral Therapy: HAART) ก็สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไวรัสถูกกดในระดับที่ไม่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส สามารถชะลอการดำเนินของโรคมากขึ้น มีวิถีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ แต่ข้อจำกัดของผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือการต้องกินยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามการกินยาต้านไวรัสสูตร 3 ตัวโดยเฉพาะแบบที่มียากลุ่ม PI รวมอยู่ด้วย จะมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญ (Metabolic syndrome) ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะต้านอินซูลิน ไขมันย้ายที่ อ้วนลงพุง มากขึ้น [2] และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามระยะเวลาการได้รับยาต้านไวรัส
ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจสูง กว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อถึง 2 เท่า เนื่องจากผลแทรกซ้อนของยาต้านไวรัส ผนวกกับพฤติกรรมการกินส่วนตัวที่ไม่สมดุล เช่น ผู้ติดเชื้อบางคนที่กังวลว่าน้ำหนักจะลด หรือต้องการเพิ่มน้ำหนัก ก็มักจะพยายามกินอาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกไขมันและข้าวแป้ง จึงทำให้เกิดภาวะไขมันสูงมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจให้หาย ขาดได้ แต่ก็ต้องย้ำว่าโรคนี้อันตรายน่ากลัวมาก อาจทำให้เสียชีวิตโดยไม่ได้สั่งเสียได้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็สูงมาก ดังนั้น...ดีที่สุดก็คือการ “ป้องกัน” ไว้ก่อน โดย “ลด-เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่มา : http://www.trcarc.org/home/article/view.php?id=25

เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้ โฆษณาจาก สปสช.

โฆษณาชื่อชัยชนะ เป็นโฆษณาเก่า แต่ดูแล้วได้กำลังใจดีครับ

18 ตุลาคม 2552

รายการเปิดปม เอดส์รักษาได้

รายการเปิดปม เอดส์รักษาได้ ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ทางสถานี tpbs เวลา 20.30 น. ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี แตกต่างกันอย่างไร พบกับเพื่อนผู้ติดเชื้อ พี่สมหวัง ดีบูชา พี่ผู้ติดเชื้อที่เปิดเผยตัวเองในโปสเตอร์ เอดส์ รู้เร็ว..รักษาได้ ,กานต์ หรือ นังนู๋กานต์ สมาชิกบ้าน PHA, อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ที่เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสมากว่า 15 ปี และเป็นอีก 1 คนที่เปิดเผยตัวเองในโปสเตอร์ เอดส์ รู้เร็ว..รักษาได้ หลายเรื่องน่ารู้ สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่

ช่วงที่ 1


ช่วงที่ 2


ช่วงที่ 3


ช่วงที่ 4


ช่วงที่ 5


ขออนุญาตทางรายการเปิดปม ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ขอนำคลิปรายการตอนนี้เผยแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมและผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวี เพราะตอนนี้ยังมีคนในสังคมอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อนผมคนหนึ่งเสียชีวิตไปเพราะไม่ยอมเข้ารับการรักษา เพราะไม่เชื่้อว่า เอดส์..รักษาได้ ตัวผมเองกว่าจะรู้ว่าเค้าติดเชื้อ ก็จนเค้าป่วยหนัก หมอไม่สามารถรักษาเค้าได้



Blogged with the Flock Browser

การเรียนรู้

หลังจากวนเวียนหาความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ในอินเตอร์เน็ตอยู่พักหนึ่ง
ผมยอมรับว่า ความรู้ ความเข้าใจอย่างแท้จริง เกิดขึ้นเฉพาะส่วนที่ผมได้สัมผัสจริง จากภรรยาของผม 

ในส่วนของผมเองที่เป็นประสบการณ์ตรง คือ เรื่องการตรวจวัดค่าซีดีโฟร์ และเปอร์เซ็นต์ซีดีโฟร์ รวมทั้งการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และลดการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลให้ค่าซีดีโฟร์ของผมขึ้น จากเดิม ค่าซีดีโฟร์ 327 ขึ้นเป็น 493 ส่วนเปอร์เซ็นต์ซีดีโฟร์ขึ้นจาก 23.7 ขึ้นเป็น 26.2

เรื่องค่าไวรัสโหลด ที่บอกว่าตอนนี้ในเลือดผมมีปริมาณเชื้อไวรัสอยู่จำนวนเท่าไร ผมก็ยังไม่รู้ เหตุผลก็เพราะ สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่กินยาต้าน และใช้บัตรทองอย่างผมยังไม่มีสิทธิตรวจ โดยอธิบายให้ฟังว่า ใช้เพียงค่าซีดีโฟร์เป็นเกณฑ์ว่าควรรับยาต้านไวรัสหรือยัง ส่วนค่าไวรัสโหลดใช้ประกอบการพิจารณาหลังจากรับยาต้านไวรัสแล้วว่า ยาต้านไวรัสใช้ได้ผลหรือเปล่า เชื้อไวรัสเกิดการดื้อยาหรือเปล่า ฯลฯ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะการตรวจหาค่าไวรัสโหลดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500 - 2,000 บาท เงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง 

วันที่ทราบผลซีดีโฟร์ เพิ่งจะรู้ว่า ชมรมผู้ติดเชื้อของโรงพยาบาลที่ผมรักษาอยู่ กำลังมีปัญหาหลายอย่าง เพื่อนผู้ติดเชื้อในจังหวัดเล็ก ๆ อย่างจังหวัดของผม ขาดความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร คลิปวิดีโอ เอดส์..รักษาได้ จากรายการบางอ้อ ที่ออกอากาศไปเมื่อเดือนเมษายน 2552 เพื่อน ๆ ผู้ติดเชื้อหลายคน ก็ยังไม่มีโอกาสได้ดู เพื่อสร้างกำลังใจและความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไป 

ผมอาจไม่มีเวลาเข้าไปทำงานให้กับชมรมของทางโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ผมจะทำได้คือ การให้ข้อมูล ข่าวสาร เพิ่มเติม แก่เพื่อนผู้ติดเชื้อ ที่เข้าร่วมการรักษาในโรงพยาบาลเดียวกัน และอาจเผยแพร่สู่เพื่อนโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป เมื่อวาน ผมเลยเสียเวลาจัดการแปลงไฟล์ให้สามารถเปิดชมในเครื่องเล่นวีซีดีทั่วไปได้ ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ ในใจแล้วผมรู้ว่า เพื่อนบางคนอาจไม่มีเครื่องเล่นวีซีดีดูด้วยซ้ำ แต่ผมว่าทางโรงพยาบาลคงมีวิธีการทำให้วีซีดีของผมมีประโยชน์ต่อเพื่อนผู้ติดเชื้อ.. ต่อไปคงหาเวลาเข้าชมรม เพื่อดูหนังสือ หรือเอกสารประกอบ ที่ทางชมรมมี แล้วค่อย ๆ เพิ่มข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเชื้ออย่างเรา ให้กับเพื่อน ๆ ที่ร่วมรักษาที่โรงพยาบาล

ผมอาจไม่เข้าไปบ่อย แต่อย่างน้อย ภรรยาผมต้องเข้าไปรับการตรวจ และรับยาทุกเดือน คำพูดหนึ่งที่พี่นกพูดกับผม แล้วทำให้ผมรู้ถึงความโชคดีของตัวเอง "..คนไข้ของพี่นก ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ต.."
Blogged with the Flock Browser

บล็อกของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • การแพ้ยามีอาการอย่างไร - เรื่อง “การแพ้ยา” เป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการแพ้ยาเป็นอันตราย อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา จึงได้รับความสนใจและเป็นคำถามประจำ ที่ผู้สั่งจ่ายยา...
    11 ปีที่ผ่านมา
  • slow slow...but sure? - ผลเลือดคราวนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของตัวเองเท่าไหร่ ขนาดเช้าวันที่ตรวจกระดกแบรนด์ไป 1 ขวดตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมโลก เขาบอกให้ลองดูสิตัวเลขจะออกมาสวยเชียวล...
    11 ปีที่ผ่านมา