ภรรยาของผมนั่งนิ่งหูฟังข่าวจากรายการโทรทัศน์ ผมรู้ทันทีว่าเธอรู้สึกไม่ดี ผมนั่งรับประทานอาหารต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับฟังข่าว รอจนข่าวจบภรรยาผมรับประทานอาหารต่อ ผมเลยถามว่า "กลัวเหรอ" เธอตอบว่า "หนูกลัวจะต้องตาย" พร้อมทั้งบอกต่อว่า ช่วงนี้เธอรู้สึกไม่ค่อยสบาย เวียนหัวบ่อย ๆ ผมบอกเธอว่ามันเป็นผลข้างเคียงของยา รับประทานยาต้านแล้ว เธอต้องดูแลตัวเองอย่างอื่นเพิ่มด้วย ยาต้านไวรัส ทำหน้าที่เพียงกดเชื้อไวรัสไม่ให้เพิ่มปริมาณ แต่หน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้นมาเป็นของผู้ป่วยอย่างเรา
เกี่ยวกับเรื่องวัดพระบาทน้ำพุ และพิพิธภัณฑ์ชีวิต ผมเคยได้อ่านข่าวมาหลายเดือนแล้ว หลังจากทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรก ๆ ผมยอมรับว่า ก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ผมศรัทธาในแง่ของการเสียสละดูแลผู้ป่วยของวัดพระบาทน้ำพุ แต่เมื่อผมรู้สิทธิที่ได้รับการรักษาพยาบาลทั้งยาต้านไวรัสและการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อฉวยโอกาส ผมก็แอบสงสัยในใจว่า ทำไมผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุถึงมีสภาพอย่างที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ไหนที่ค้นในอินเตอร์เน็ตบอกว่า "เอดส์รักษาได้" แล้วทำไมถึงยังมีข่าวผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุเสียชีวิต
วันหนึ่งในกระทู้ของบ้านฟ้า มีการพูดถึงเรื่องนี้ มีรายการทีวีนำเสนอภาพของพระบาทน้ำพุ จากกระทู้ของน้าเหนาะกระทู้นี้ครับ รายการหลอกลวงโลก ทำให้ผมได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ google ทำให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของวัดพระบาทน้ำพุ แล้วก็มาตอกย้ำความเชื่อของผมอีกด้วยกระทู้นี้ ผู้ป่วยเอดส์วัดพระบาทน้ำพุ มีหนทางพ้นทุกข์ 2 ทาง แล้วพอตอนประมาณ 3 ทุ่มเข้าเวบบ้านฟ้า ก็มาเจอกระทู้ที่ตั้งคำถามว่า ในฐานะคนมีเชื้อ H เพื่อนๆมีข้อคิดเห็นยังงัยกันบ้าง ผมเลยอดแสดงความเห็นส่วนตัวไปไม่ได้ เพราะมันเหลืออด เมื่อนึกถึงสีหน้าอันหวาดกลัวของภรรยาผมตอนฟังข่าว
ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวนมาก ต้องการฟังข่าวดีถึงเรื่องวัคซีนและยารักษา ผู้ป่วยโรคนี้ต้องการกำลังใจ ต้องการการยอมรับจากสังคม ต้องการให้สังคมมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ พิพิธภัณฑ์ชีวิตสามารถป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มได้จริงหรือ? มีประโยชน์ต่อสังคมหรือเป็นการนำร่างกายของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์มาประจาน? ความกลัวอาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังชม แต่เมื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติ ดูไม่รู้หรอกว่าคนที่ดูสวย ดูหล่อ มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย และไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพราะในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อได้รับยาต้านและรับการรักษาจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจนหายเป็นปกติแล้ว ไม่มีสภาพเหมือนผู้ป่วยเอดส์ที่ทางวัดพระบาทน้ำพุ พยายามนำเสนอ ผมจึงขอย้อนถามว่า แล้วพิพิธภัณฑ์ชีวิตจะช่วยป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มได้อย่างไร?
ในความเห็นของผมตอนนี้วัดพระบาทน้ำพุน่าจะเปลี่ยน วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อได้แล้ว ในขณะที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีชาวไทย สามารถรับยาต้านไวรัส และรับการรักษาโรคจากการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ฟรีทุกคน ผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุ เป็นเพียงผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เหมือนกับผมที่ก่อนจะรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวี ก็ไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะสังคม รวมทั้งญาติพี่น้องไม่ยอมรับ ทำให้ต้องหันไปพึ่งวัดพระบาทน้ำพุ พวกเขาขาดความรู้ และไม่มีทางเลือก ผมไม่ทราบว่า ปัจจุบันภายในวัดมีวิธีการรักษายังไง แต่ที่เคยอ่านมา ยาต้านไวรัสถูกนำไปกองทิ้งไว้ให้หมดอายุ โดยไม่ให้ผู้ป่วยที่วัดได้กิน ฝรั่งที่เคยเข้าไปช่วยเหลือถูกไล่ออกจากวัด เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยของวัด เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีในวัดที่เคยได้รับยาต้านจนสภาพร่างกายดีขึ้น กลับถูกห้ามติดต่อกับโบสถ์หรือบ้านพักของฝรั่ง (จำไม่ได้) ดูเหมือนต้องการให้เด็กเหล่านั้นมีสภาพเหมือนผู้ป่วยเอดส์ต่อไป โดยไม่ได้รับการรักษา มีคำถามในใจตัวเองว่า ในช่วง 2 - 3 ปี มีผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่ที่สามารถรอดชีวิต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม ภาพประชาสัมพันธ์ของวัดล้วนแต่นำเสนอสภาพอันเลวร้ายของผู้ป่วยเอดส์ทั้งที่ ใกล้เสียชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อแลกกับการบริจาคของประชาชนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษาและสิทธิของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ในขณะที่หลายหน่วยงานพยายามสร้างภาพลักษณ์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่ เพราะรู้ดีว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ตราบใดที่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส กินอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี เพื่อให้สังคมยอมรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่วัดพระบามน้ำพุกลับพยายามนำเสนอภาพลักษณ์อันน่าหดหู่ของผู้ป่วยและผู้ เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัดพระบาทน้ำพุ น่าจะหาวิธีการช่วยเหลือให้ผู้ติดเชื้อสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ นอกจากฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยด้วยหลักธรรมของศาสนาพุทธ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ สร้างภาพลักษณ์ให้คนในสังคมยอมรับผู้ติดเชื้อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น