เตรียมพร้อมรับยาต้านไวรัสเอชไอวี |
ยอมรับเลยว่า ตัวผมเองก่อนทราบผลตรวจซีดี 4 มีความคิดอยู่ในใจว่า หากเกณฑ์การรักษาด้วยการรับยาต้านไวรัสเริ่มใช้ที่ระดับซีดี 4 ต่ำกว่า 350 ผมคงต้องกินยาต้านไวรัสอย่างหลีกไม่พ้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาผมต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เครียดหลาย ๆ เรื่อง คิดว่าค่าซีดี 4 คงต่ำกว่า 350 และต้องกินยาต้านไวรัสเอชไอวี หรือเรียกสั้น ๆ ทับศัพท์ว่า ARV แน่ ๆ แต่พอผลซีดี 4 ออกมาคือ ซีดี 4 เท่ากับ 439 และเปอร์เซ็นต์ซีดี 4 อยู่ที่ 25.23 ทำให้ผมทราบว่ายังไม่ต้องกินยาต้านไวรัส และค่าซีดี 4 สูงกว่าที่ผมคาดไว้ อาจเป็นเพราะช่วงที่ตรวจผมพยายามพักผ่อนให้เพียงพอก่อนตรวจประมาณ 1 สัปดาห์
ทำอย่างไรจึงพร้อมกินยาต้านไวรัสเอชไอวี
- ประเมินใจตัวเองว่าพร้อมหรือยังที่จะเปิดเผยตัวต่อเจ้าหน้าที่ และพร้อมกินยาอย่างต่อเนื่องทุกวันและตลอดไป
- ประเมินความพร้อมด้านการเงิน และค่าใช้จ่ายในการรับยา (ตรงนี้นะครับ ผมขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะครับ เนื่องจากข้อมูลนี้พิมพ์มาหลายปีแล้ว เนื่องจากในปัจจุบันเราสามารถรักษาได้ฟรีโดยใช้สิทธิต่าง ๆ ทั้งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ประเมินตัวเองว่าเราสามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลแบบใด และหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สิทธินั้น)
- หาความรู้เรื่องการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (ของเดิมเป็นเอดส์ ผมขอปรับเปลี่ยนหน่อย) ที่จะกิน รู้สูตรยา รู้อาการข้างเคียง รู้คุณโทษในการกินยาระยะยาว (เพิ่มเติมเองนะครับ รู้ว่าเมื่อกินยาตัวนั้นแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใดที่จะไปลดฤทธิ์ยา หรือไปเพิ่มฤทธิ์ยา หรือถ้าจะกินสมุนไพรควรคู่ไปด้วย ควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรตัวใดหรือวิตามินตัวใดที่ไม่ควรกินพร้อมกับการกินยาต้านไวรัส)
- วางแผนการดำเนินชีวิตและเตรียมรับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการกินยา
- เลือกสูตรยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีความเหมาะสมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การยอมรับได้ในการกินยา และการตัดสินใจของแพทย์ ทั้งนี้ต้องให้ข้อมูลประวัติการรักษาในอดีต เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการป้องกันการดื้อยา และเป็นประโยชน์ในการเลือกสูตรยาให้เหมาะสม อีกทั้งต้องปรับเวลาการกินยาให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวัน
- ทำความเข้าใจขั้นตอนการกินยาเป็นอย่างดี
- มีวินัยในการกินยาตรงเวลา กินเวลาไหนตามสะดวกแต่ต้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ระยะห่างระหว่างยาแต่ละมื้อต้องแม่นยำและเหมือนกันทุกวัน เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้อพัฒนาตนเองมาดื้อยาได้ และสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีได้ตลอดเวลา เพราะระดับยาในเลือดคงที่เท่ากันตลอดทุกวันเวลา
- ยาก่อนอาหารต้องกินตอนท้องว่าง และกินก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
- ยาหลังอาหารต้องกินหลังจากที่มีอาหารกระเพาะอาหาร เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดีและป้องกันการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร
- ยาก่อนนอนมักเป็นยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน หรือเวียนศีรษะ มึนงงต้องกินก่อนนอน
- การกินยาต้องมีการดูแลร่างกายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นรักษาไปตลอดการรักษา เพราะยาไม่ได้ทำให้เชื้อไวรัสหมดจากร่างกาย แต่ช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น จึงต้องกินยาเพื่อควบคุมเชื้อตลอดไป ยาอาจมีผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงต้องมีการติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
1. การแพ้ยา
- ถ้าแพ้ยาไม่รุนแรง อาจมีไข้ มีผื่นลมพิษ เยื่อบุอ่อนพองบวม เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุปาก หายใจขัดหรือหอบ
- การแพ้ยารุนแรงจะเกิดการช็อค หายใจไม่ทัน ขาดอากาศ หมดสติได้ ดังนั้น เมื่อทราบว่าเคยมีประวัติแพ้ยา ควรบอกแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ดูแลก่อนรับยาต้านไวรัสเอดส์
- อาการข้างเคียงในระยะสั้นและไม่รุนแรง พบได้และอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีผื่นขึ้นเล็กน้อย
- อาการข้างเคียงในระยะสั้นและรุนแรง เช่น ภาวะซีด ตับหรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต ซึ่งอาจพบได้ทุกช่วงของการกินยา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบแก้ไข ดังนั้น ต้องติดตามอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยการตรวจสุขภาพและผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องได้ ต้องให้ข้อมูลแก่แพทย์ให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ของตนเอง
- อาการข้างเคียงในระยะยาว มักพบหลังจากกินยาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป บางรายพบได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาการข้างเคียงในระยะยาว เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย การกระจายและสะสมของไขมันผิดปกติและผิดที่ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ลำตัวอ้วน แขนขาลีบ แก้มตอบ
หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก รู้จักยาต้านไวรัีส นะครับ
ผมกินยาต้านมาประมาน1ปีแต่ก็ยังผอมและตอนนี้มีผื่นเม็ดเล็กตามลำตัวพึ่งมีประมาร1สัปดาห์รบกวนคำแนะนำหน่อยครับ
ตอบลบ