01 เมษายน 2553

การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และวินโดว์พีเรียด

การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี


การตัดสินว่าบุคคลใดติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด ซึ่งจะสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ก็ต่อเมื่อ ตรวจพบแอนติบอดี้ของเชื้อเอชไอวี (โปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย) ในเลือด

ตรงคำว่า "ตรวจเลือด" นี่เอง ที่บางครั้งทำให้เพื่อนผู้ติดเชื้อเอชไอวีสับสน เป็นความจริงที่ว่าการตรวจหาค่าซีดี 4 ค่าไวรัสโหลด ก็คือ การตรวจเลือด การตรวจหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CBC ก็คือ การตรวจเลือด แต่ทั้งการตรวจค่าซีดี 4 การตรวจไวรัสโหลด และ การตรวจ CBC การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี มีจุดมุ่งหมายในการตรวจต่างกัน น้ำยาที่ใช้ในการตรวจ ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจอย่างหนึ่ง จะเอาไปแปลผลในการตรวจอีกอย่างหนึ่งไม่ได้

เช่น การตรวจหาค่า ซีดี 4 หากมีค่าซีดี 4 > 1,000 ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี (ค่าเฉลี่ยของซีดี 4 ในคนปกติ คือ 500 - 1200 โดยประมาณ) หรือหากตรวจแล้วมีค่าซีดี 4 < 500 ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นจะต้องติดเชื้อเอชไอวี เขาอาจจะป่วย รักษาหรือกินยาบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกกด

หรืออย่างกรณีที่ตรวจค่าไวรัสโหลดซึ่งได้ผลเป็น undetectable หรือตรวจไม่พบ ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นหายจากการติดเชื้อเอชไอวี เพราะผลที่บอกว่า ตรวจไม่พบ คือ การตรวจหาเชื้อไวรัสในกระแสเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รวมเชื้อไวรัสที่อาจหลบซ่อนอยู่ในต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย ในน้ำนม หรือน้ำกาม และการตรวจไม่พบก็ขึ้นอยู่กับน้ำยาที่ใช้ว่ามีความไวมากน้อยเพียงใด อาจมีน้ำยาที่มีความไวต่อเชื้อไวรัสที่มีมากกว่าหรือเท่ากับ 40 ตัวต่อเลือด 1 ซี.ซี. หรือน้ำยาที่มีความไวต่อเชื้อไวรัสที่มีมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ตัวต่อเลือด 1 ซี.ซี. นอกจากใช้คำว่า ตรวจไม่พบอาจสรุปว่า VL (Viral Load) < 40 หรือ VL < 20 ขึ้นอยู่กับน้ำยาที่ใช้ตรวจ

ชุดตรวจที่ใช้โดยทั่วไปเรียกว่า อีไลซา (ELISA) และยังมีชุดตรวจแบบด่วนรู้ผลทันทีที่ใช้ในคลินิก (Rapid Test) ถ้าผลการตรวจโดยอีไลซ่าหรือชุดตรวจแบบด่วนเป็นบวก จะต้องมีการตรวจครั้งที่สองเพื่อยืนยันผล

ปกติทุกคนจะได้รับการตรวจซ้ำเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการผิดพลาด (ดังนั้นจึงตรวจครั้งที่สองเพื่อยืนยันผล) ผลตรวจที่ผิดพลาดสามารถเป็นได้ทั้งผลบวกปลอม (นั่นคือผลการตรวจระบุว่าผู้นั้นมีแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี แต่ในความเป็นจริงเขาไม่ได้ติดเชื้อ) หรือผลลบปลอม (นั่นคือการตรวจระบุว่าผู้นั้นไม่มีแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี แต่ในความเป็นจริงเขาติดเชื้อ) ซึ่งผลลบปลอม ยังสามารถเกิดได้ในช่วง "วินโดว์พีเรียด"

วินโดว์พีเรียดคืออะไร?


ในการหาเชื้อเอชไอวีจะทำการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี แทนที่จะหาตัวเชื้อเอชไอวี เมื่อติดเชื้อเอชไอวีร่างกายจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี หมายความว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงเวลาที่ระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะตรวจพบได้อาจตรวจไม่พบการติดเชื้อหรือผลตรวจเป็นลบนั่นเอง ถึงแม้ว่าบุคคลนี้จะติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก็ตาม "ช่วงระยะเวลา" ดังกล่าวนี้เรียกว่า วินโดว์พีเรียด

วินโดว์พีเรียดมีระยะเวลาเท่าไร?


ระยะเวลาของวินโดว์พีเรียดนั้นแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล แต่ปกติจะเป็น 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

วินโดว์พีเรียดสำคัญอย่างไร?


วินโดว์พีเรียดมีความสำคัญเพราะเป็๋นช่วงเวลาที่ผู้ได้รับการตรวจมีผลตรวจเป็นลบ ในขณะที่ความจริงเขาติดเชื้อแล้วและสามารถแพร่เชื้อได้ วินโดว์พีเรียกทำให้เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่า เราไม่ติดเชื้อแม้ว่าผลตรวจจะเป็นลบก็ตาม เราจะแน่ใจได้ก็ต่อเมื่อเราไม่มีความเสี่ยงเลยในช่วง 6 สัปดาห์ ถึง 3 เดือนก่อนการตรวจเป็นลบ

วิธีการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี


เราสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ ได้คือ
  1. การตรวจหาแอนติบอดีของเอชไอวี ซึ่งทั้ง ELISA และ Rapid Test คือ การตรวจแบบนี้
  2. การตรวจแอนติเจน การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยตรงในกระแสเลือด จะมีราคาสูง และใช้เวลามากกว่า ได้แก่ วิธีการตรวจแบบ PCR และ NAT (วิธี NAT  เป็นการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบใหม่ที่สภากาชาดไทยนำมาใช้ ควบคู่กับการตรวจแบบแอนติบอดี

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2 สิงหาคม 2556 เวลา 01:21

    ขอแก้ไขความรู้นะครับ

    1.ทุกวันนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้เปลี่ยนหลักการตรวจ HIV จาก ELISA มาเป็น CMIA ซึ่งมีความไวและความจำเพราะในการตรวจมากกว่า
    2.วิธี Rapid test แล้วแต่บริษัทที่ผลิตนะครับ บางบริษัทก็มีการตรวจแบบ Combo ซึ่งก็คือตรวจได้ทั้ง HIV Ab และ HIV Ag.
    3.ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรายผลว่า HIV Ab หรือ Ag. positive อาจจะไม่จำเป็นต้องไปขอตรวจใหม่ซ้ำอีก เพราะตามหลักแพทย์สภาได้กล่าวว่าการรายงานผล HIV positive ต้องตรวจอย่างน้อย 2 วิธีด้วยหลักการที่แตกต่างกันจึงจะสามารถรายงานผลได้แต่ส่วนใหญ่จะตรวจประมาณ 3 วิธี
    4. window priod คือระยะที่มีเชื้อภายในรางกายแต่ไม่สามารถตรวจพบ Ab ซึ่งจะไม่ใช่ 6 สัปดาห์อย่างที่กล่าวมาเพราะจะขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจมากกว่า เช่น การตรวจด้วยวิธี NAT (nucleic amplification test ) จะสามารถตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อได้ในวันที่ 11 เป็นต้นไปแต่ถ้าจะให้มั่นใจก็ประมาณ 2 สัปดาห์จึงมาตรวจ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับบทความครับ ได้ความรู้มากทีเดียว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แล้ววิธีตรวจแบบcmiaมีระยะวินโด้กี่สัปดาคับ

      ลบ

บล็อกของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • การแพ้ยามีอาการอย่างไร - เรื่อง “การแพ้ยา” เป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการแพ้ยาเป็นอันตราย อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา จึงได้รับความสนใจและเป็นคำถามประจำ ที่ผู้สั่งจ่ายยา...
    11 ปีที่ผ่านมา
  • slow slow...but sure? - ผลเลือดคราวนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของตัวเองเท่าไหร่ ขนาดเช้าวันที่ตรวจกระดกแบรนด์ไป 1 ขวดตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมโลก เขาบอกให้ลองดูสิตัวเลขจะออกมาสวยเชียวล...
    12 ปีที่ผ่านมา