29 กันยายน 2552

ไว้อาลัย แด่สมาชิกบ้านฟ้า.. ใบไม้อ้างว้าง

ในตอนที่รู้ตัวว่า ติดเชื้อเอชไอวี ผมยอมรับว่า รู้สึกว่าชีวิตมืดไปทุกด้าน ถามตัวเองว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร อยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตยืนยาวได้มากที่สุด ตอนนั้นยอมรับเลยว่า ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษาพยาบาล ไม่มีความเข้าใจในความรู้สึกของผู้ติดเชื้อ

ผมเสิร์ชหาความรู้เรื่อง โรคเอดส์ เอชไอวี จากกูเกิ้ล ได้รับข้อมูลเบื้องต้น เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคนี้ โรคเอดส์คืออะไร? โรคนี้ติดต่อได้ทางไหนบ้าง? โรคเอดส์แบ่งได้กี่ระยะ? ผู้ป่วยเอดส์มีวิธีการดูแลอย่างไร? ฯลฯ อะไรเหล่านี้

ไม่เคยได้รับความรู้ว่า คนเป็นเอดส์สามารถอยู่ได้เป็น 20 – 30 ปี..

เข้าไปดูกระทู้ถามตอบ บางเว็บไซต์ ก็มีแต่คำถามประเภทว่า จะติดเอดส์มั้ย.. ซะเยอะ หรือบางเวบน่าสนใจ แต่พอตอนสมัครต้องกรอกชื่อจริง นามสกุลจริง.. ผมไม่อยากโกหก ก็เลยไม่ได้สมัครสมาชิก

แต่ผมก็รู้จักบ้านฟ้า ก็เพราะเวบบอร์ดเหล่านั้น มีคนไปโพสต์ไว้

ใบไม้อ้างว้าง.. เป็นสมาชิกในบ้านฟ้าคนหนึ่ง.. แต่พี่เค้าไม่ได้ติดเชื้อนะครับ พี่เค้าเข้ามาช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโรคนี้ ให้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๆ ทราบด้วยความมีน้ำใจ ถ้าเป็นทางธรรมะก็จัดอยู่ในเมตตา กรุณา ในพรหมวิหาร 4

เฮียไบไม้.. เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ (ขออนุญาตเรียกเฮียตามเพื่อน ๆ หลายคนในบ้าน) ขณะกำลังออกกำลังกายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ตัวผมเองเคยอ่านการตอบกระทู้ของเฮียแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกดี ๆ นะครับ และผมรู้สึกเสียดายที่ต้องเสียคนดี ๆ และมีเมตตาอย่างเฮียไป ผมในนามของสมาชิกบ้านฟ้าและผู้ติดเชื้อเอชไอวีคนหนึ่ง ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเฮียด้วย

ความคิดเห็นต่อเฮียใบไม้อ้างว้าง.. ของน้าเหนาะ ผู้อาวุโสแห่งบ้านฟ้า (ที่ชอบบอกว่าตัวเอง เด็กสุด)
จะเห็นว่าการตอบกระทู้ ของใบไม้ จะเป็นวิชาการล้วนๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั้งนั้น ไม่เคยเห็น ใบไม้ตอบแบบเล่นๆเลย

ใบไม้จะพิมพ์ตอบกระทู้ แบบเว้นบรรทัดทุกกระทู้ เพื่อให้คนอ่าน อ่านได้ง่ายและเข้าใจง่ายขึ้น แสดงถึงการเอาใจใส่จริงๆในการตอบกระทู้

แต่ก็มีบางครั้ง ที่การตอบกระทู้ของใบไม้ไม่สมหวังดั่งที่ตั้งใจไว้ ใบไม้ก็จะโทษตัวเองตลอด

ขอให้ความดีมีน้ำใจของใบไม้ที่มอบให้บ้านฟ้า จงเป็นผลให้ วิญญาณใบไม้อ้างว้าง จงไปสู่สรวงสวรรค์
ด้วยรักและอาลัย
จริง ๆ แล้ว ได้มีผู้ไว้อาลัยแด่เฮียใบไม้อีกหลายคนนะครับ แต่ผมคัดมาเพียงคนเดียว เพราะผมรู้สึกว่า ความคิดเห็นของน้าเหนาะ ตรงกับใจผมมากที่สุด..

22 กันยายน 2552

คุณจะมีชีวิตอยู่กับเอชไอวีได้นานแค่ไหน?

การเล่าเรื่องผ่านบล็อก บางครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องอยากจะเล่า แต่บางครั้งกว่าจะใช้เวลาเรียบเรียงความคิดได้.. ต้องใช้เวลาและสมาธิ เพราะบางครั้งในแต่ละวันมีเรื่องให้คิดมากมาย

เข้าไปอ่านในบล็อกของต่างประเทศบล็อกหนึ่ง ถามคำถามเป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายแปลเป็นไทยว่า “คุณจะมีชีวิตอยู่กับเอชไอวีได้นานแค่ไหน?” ซึ่งเขาใช้เป็นชื่อเรื่อง โดยเขาขึ้นต้นด้วยประโยคคำถามว่า “ผมจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน?”

เขาบอกว่ามันเป็นคำถามที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ มักจะถามร่วมกับคำถามอีกหลาย ๆ คำถาม เป็นคำถามที่แสดงถึงความหวาดกลัว สับสนใจ
การที่จะบอกได้ว่า คุณจะมีชีวิตอยู่กับเอชไอวีได้นานแค่ไหน เขาบอกว่ามีอิทธิพลจากหลายอย่าง คุณติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วย่อมสามารถมีชีวิตได้ยืนยาวกว่าอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาประเทศยากจนอย่างอาฟริกา หรืออเมริกาใต้ เขาเสริมต่อไปอีกว่า จริง ๆ แล้วไม่สำคัญว่าจะมีชีวิตเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศไหน สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพให้ดี มีผลต่อการรักษาเอชไอวีอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่เขาพูดถึง และผมให้ความสำคัญคือ จากการศึกษาในปี 2005 ถ้าคุณติดเชื้อเอชไอวีในปี 2005 เมื่อคุณอายุ 35 ปี คุณจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงอายุ 72 ปี ซึ่งน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันเพียง 6 ปี และถ้าเป็นผู้หญิงก็มีอายุยืนกว่าผู้ชาย ฯลฯ

แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีแต่ละคนมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ป้จจัยความเสี่ยงต่อโรคของครอบครัวที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นปัจจัยให้มีอายุยืนหรือมีอายุสั้นแตกต่างกัน

เขาสรุปในตอนท้ายซึ่งผมเห็นด้วยว่า ไม่ว่าคุณจะมีชีวิตอยู่อีก 50 ปี หรืออีกเพียง 5 ปี คุณอาจจะตายเพราะเชื้อเอชไอวี หรือคุณจะตายจากอุบัติเหตุการข้ามถนน อย่างไรทุกคนก็ต้องตาย สิ่งสำคัญคือคุณใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไรต่างหากนั่นเป็นสิ่งสำคัญ

11 กันยายน 2552

จริงหรือที่เขาว่า พิพิธภัณฑ์ชีวิต ที่วัดพระบาทน้ำพุ ช่วยป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเอชไอวีเพิ่ม?

วันนี้ขณะกำลังรับประทานอาหารเย็นอยู่กับภรรยา ข่าวทางโทรทัศน์นำเสนอข่าวผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้องกรรมการสิทธิมนุษยชนเรื่องการนำร่างที่เสียชีวิตแล้วของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วไปจัดแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์มนุษย์

IMG_2279
ภรรยาของผมนั่งนิ่งหูฟังข่าวจากรายการโทรทัศน์ ผมรู้ทันทีว่าเธอรู้สึกไม่ดี ผมนั่งรับประทานอาหารต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับฟังข่าว รอจนข่าวจบภรรยาผมรับประทานอาหารต่อ ผมเลยถามว่า "กลัวเหรอ" เธอตอบว่า "หนูกลัวจะต้องตาย" พร้อมทั้งบอกต่อว่า ช่วงนี้เธอรู้สึกไม่ค่อยสบาย เวียนหัวบ่อย ๆ ผมบอกเธอว่ามันเป็นผลข้างเคียงของยา รับประทานยาต้านแล้ว เธอต้องดูแลตัวเองอย่างอื่นเพิ่มด้วย ยาต้านไวรัส ทำหน้าที่เพียงกดเชื้อไวรัสไม่ให้เพิ่มปริมาณ แต่หน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้นมาเป็นของผู้ป่วยอย่างเรา

เกี่ยวกับเรื่องวัดพระบาทน้ำพุ และพิพิธภัณฑ์ชีวิต ผมเคยได้อ่านข่าวมาหลายเดือนแล้ว หลังจากทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรก ๆ ผมยอมรับว่า ก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ผมศรัทธาในแง่ของการเสียสละดูแลผู้ป่วยของวัดพระบาทน้ำพุ แต่เมื่อผมรู้สิทธิที่ได้รับการรักษาพยาบาลทั้งยาต้านไวรัสและการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อฉวยโอกาส ผมก็แอบสงสัยในใจว่า ทำไมผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุถึงมีสภาพอย่างที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ไหนที่ค้นในอินเตอร์เน็ตบอกว่า "เอดส์รักษาได้" แล้วทำไมถึงยังมีข่าวผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุเสียชีวิต

วันหนึ่งในกระทู้ของบ้านฟ้า มีการพูดถึงเรื่องนี้ มีรายการทีวีนำเสนอภาพของพระบาทน้ำพุ จากกระทู้ของน้าเหนาะกระทู้นี้ครับ รายการหลอกลวงโลก ทำให้ผมได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ google ทำให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของวัดพระบาทน้ำพุ แล้วก็มาตอกย้ำความเชื่อของผมอีกด้วยกระทู้นี้ ผู้ป่วยเอดส์วัดพระบาทน้ำพุ มีหนทางพ้นทุกข์ 2 ทาง แล้วพอตอนประมาณ 3 ทุ่มเข้าเวบบ้านฟ้า ก็มาเจอกระทู้ที่ตั้งคำถามว่า ในฐานะคนมีเชื้อ H เพื่อนๆมีข้อคิดเห็นยังงัยกันบ้าง ผมเลยอดแสดงความเห็นส่วนตัวไปไม่ได้ เพราะมันเหลืออด เมื่อนึกถึงสีหน้าอันหวาดกลัวของภรรยาผมตอนฟังข่าว

ในความเห็นของผมตอนนี้วัดพระบาทน้ำพุน่าจะเปลี่ยน วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อได้แล้ว ในขณะที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีชาวไทย สามารถรับยาต้านไวรัส และรับการรักษาโรคจากการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ฟรีทุกคน ผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุ เป็นเพียงผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เหมือนกับผมที่ก่อนจะรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวี ก็ไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะสังคม รวมทั้งญาติพี่น้องไม่ยอมรับ ทำให้ต้องหันไปพึ่งวัดพระบาทน้ำพุ พวกเขาขาดความรู้ และไม่มีทางเลือก ผมไม่ทราบว่า ปัจจุบันภายในวัดมีวิธีการรักษายังไง แต่ที่เคยอ่านมา ยาต้านไวรัสถูกนำไปกองทิ้งไว้ให้หมดอายุ โดยไม่ให้ผู้ป่วยที่วัดได้กิน ฝรั่งที่เคยเข้าไปช่วยเหลือถูกไล่ออกจากวัด เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยของวัด เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีในวัดที่เคยได้รับยาต้านจนสภาพร่างกายดีขึ้น กลับถูกห้ามติดต่อกับโบสถ์หรือบ้านพักของฝรั่ง (จำไม่ได้) ดูเหมือนต้องการให้เด็กเหล่านั้นมีสภาพเหมือนผู้ป่วยเอดส์ต่อไป โดยไม่ได้รับการรักษา มีคำถามในใจตัวเองว่า ในช่วง 2 - 3 ปี มีผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่ที่สามารถรอดชีวิต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม ภาพประชาสัมพันธ์ของวัดล้วนแต่นำเสนอสภาพอันเลวร้ายของผู้ป่วยเอดส์ทั้งที่ ใกล้เสียชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อแลกกับการบริจาคของประชาชนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษาและสิทธิของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ในขณะที่หลายหน่วยงานพยายามสร้างภาพลักษณ์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่ เพราะรู้ดีว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ตราบใดที่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส กินอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี เพื่อให้สังคมยอมรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่วัดพระบามน้ำพุกลับพยายามนำเสนอภาพลักษณ์อันน่าหดหู่ของผู้ป่วยและผู้ เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัดพระบาทน้ำพุ น่าจะหาวิธีการช่วยเหลือให้ผู้ติดเชื้อสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ นอกจากฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยด้วยหลักธรรมของศาสนาพุทธ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ สร้างภาพลักษณ์ให้คนในสังคมยอมรับผู้ติดเชื้อ
ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวนมาก ต้องการฟังข่าวดีถึงเรื่องวัคซีนและยารักษา ผู้ป่วยโรคนี้ต้องการกำลังใจ ต้องการการยอมรับจากสังคม ต้องการให้สังคมมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ พิพิธภัณฑ์ชีวิตสามารถป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มได้จริงหรือ? มีประโยชน์ต่อสังคมหรือเป็นการนำร่างกายของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์มาประจาน? ความกลัวอาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังชม แต่เมื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติ ดูไม่รู้หรอกว่าคนที่ดูสวย ดูหล่อ มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย และไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพราะในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อได้รับยาต้านและรับการรักษาจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจนหายเป็นปกติแล้ว ไม่มีสภาพเหมือนผู้ป่วยเอดส์ที่ทางวัดพระบาทน้ำพุ พยายามนำเสนอ ผมจึงขอย้อนถามว่า แล้วพิพิธภัณฑ์ชีวิตจะช่วยป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มได้อย่างไร?

09 กันยายน 2552

ทำไมผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องให้ความสำคัญกับซีดีโฟร์

เพื่อน ๆ คงจะรู้กันอยู่แล้วว่า เราควรจะรับยาต้านเมื่อค่าซีดีโฟร์เราต่ำกว่า 200 เพราะเมื่อซีดีโฟร์ต่ำกว่า 200 จะทำให้เชื้อโรคฉวยโอกาสเล่นงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างพวกเราได้ ทั้งโรคเชื้อราขึ้นสมอง โรคปอดอักเสบพีซีพี ปุ่มพีพีอี ฯลฯ หรือแม้ค่าซีดีโฟร์เราจะสูงกว่า 200 แต่ต่ำกว่า 350 และมีอาการสัมพันธ์กับโรคเอดส์ เช่น น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรังติดต่อกัน 2 อาทิตย์โดยไม่ทราบสาเหตุ มีปุ่มแพ้ยุง ก็เป็นเกณฑ์ที่แพทย์ใช้พิจารณาให้เรารับยาต้านไวรัสเอชไอวี

ค่าซีดีโฟร์ที่ใช้ เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณ เมื่อเราตรวจซีดีโฟร์ เราจะตรวจหาเปอร์เซ็นต์ซีดีโฟร์ เปอร์เซ็นลิมโฟไซต์ (ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งจากหลาย ๆ ชนิดในเม็ดเลือดขาวในร่างกายเรา)รวมทั้งจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมดในเลือด

เรามักจะได้รับการบอกเล่าว่า การที่ค่าซีดีโฟร์สูง หมายถึง การลดโอกาสติดเชื้อโรคฉวยโอกาส หรือโรคสัมพันธ์กับอาการเอดส์ ทำให้เราไม่มีอาการเหมือนคนป่วยโรคเอดส์ ที่มีค่าซีดีโฟร์ต่ำกว่า 200

แต่บางครั้งผมเกิดความสงสัยว่า ทำไมบางคนที่มีค่าซีดีโฟร์สูงถึงเสียชีวิตได้ อย่างบางคนที่ผมรู้จัก เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย บางคนเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม

ผมว่า บางที.. บางคนอาจไม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ แต่เสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงของยา เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ตัวเองเท่าที่ควร จากการศึกษาและถามตัวเองของผม นอกจากการรับประทานยาต้านไวรัสแล้ว เราจำเป็นต้องอาศัยการแพทย์ทางเลือกอื่น เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน เพราะบางคนแม้ซีดีโฟร์จะสูง แต่ป่วยบ่อย ซึ่งเรื่องการแพทย์ทางเลือกใช้ควบคู่กับการทานยาต้านไวรัส อยู่ในบทความเรื่อง รู้จักยาต้านไวรัส

ผมว่า นอกจากค่าซีดีโฟร์ที่เราต้องรู้เพื่อเมื่อถึงเวลาต้องรับยาต้าน เราจะได้รับ และถ้าซีดีโฟร์เราต่ำ เราก็ใช้มันเพื่อเตือนให้เรารับประทานยาป้องกันเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ แต่เราจำเป็นต้องดูแลรักษาสุขภาพทั่วไปด้วย เพราะการที่เราเป็นโรคเอดส์ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่เจ็บป่วยจากโรคอื่น ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคอื่น ..โรคเอดส์เป็นเครื่องเตือนเราแล้วว่า เราเป็นสัตว์โลกย่อมหลีกหนีความเจ็บป่วยไปไม่พ้น

04 กันยายน 2552

เอดส์รักษาได้ จากรายการบางอ้อ ตอนที่ 2

พี่ปาน.. ผู้ป่วยเอดส์ท่านหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เธอสามารถใช้ชีวิตคู่กับสามี ที่ไม่ได้ติดเชื้อด้วยความเข้าใจ ทำให้เธอต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างมีกำลังใจ จนสามารถเอาชนะเชื้อเอดส์ ที่แอบแฝงเธอนานถึง 17 ปีได้ โดยไม่เคยพึ่งยาต้านไวรัส HIV แม้แต่ครั้งเดียว เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้เพราะความรัก จากรายการ บางอ้อ ตอน เอดส์รักษาได้ ช่วงที่ 2 ครับ

03 กันยายน 2552

เรื่องของผม ตอนที่ 3

2 เมษายน 2552 วันนัดตรวจซีดีโฟร์ครั้งแรก ผมกับภรรยา ไปถึงโรงพยาบาลประมาณ 8.30 น. พบเพื่อนสมัยเรียน ม. ปลาย ที่เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ห้องตรวจเลือด ก็บอกความจริงให้เพื่อนฟังว่า ผมติดเชื้อเอชไอวี มาเพื่อตรวจหาซีดีโฟร์ เพื่อนก็พูดให้กำลังใจว่า เดี๋ยวนี้โรคนี้อยู่ได้หลายปี บางทีอาจมียารักษาให้หายก่อนก็ได้ หลังจากตรวจซีดีโฟร์ ทั้งผมและภรรยา ได้ไปคุยกับพี่นกอีก พี่นกนัดฟังผลวันที่ 8 เมษายน แต่นัดให้ผมกับภรรยาไปใหม่วันที่ 20 เมษายน โดยให้ผมโทรไปถามผลซีดีโฟร์ก็ได้ โดยในขณะนั้นภรรยาผมมีอาการของผู้ป่วยเอดส์ ส่วนผมสุขภาพยังแข็งแรงปกติ พี่นกบอกว่า แม้สุขภาพภายนอกจะดูแข็งแรง แต่ถ้าซีดีโฟร์ต่ำกว่า 200 ผมก็ต้องทานยา ส่วนภรรยาของผมถ้าเป็นโรคแทรกซ้อนก็ต้องรักษาโรคแทรกซ้อนก่อนที่จะกินยา ภรรยาผมถูกตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด เพราะเธอมีอาการไอ เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย หายใจไม่ค่อยออก กลับจากโรงพยาบาล ผมก็เข้าอินเตอร์เน็ตหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ต่อ จากข้อมูลเบื้องต้นต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าไปอ่านกระทู้ของพี่หนึ่ง พี่ลูซี่ พี่ว้อนท์ แห่งบ้านฟ้า ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะอยู่ร่วมกับเจ้าเชื้อ เอชไอวี ต่อไป ตอนนั้นผมยังไม่ได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกบ้านฟ้า แต่ก็สนใจเข้าไปอ่านกระทู้หลาย ๆ กระทู้ ความรู้สึกในวันนั้นสบายใจขึ้นบ้าง แต่ยังรังเกียจตัวเอง กลัวคนอื่นรู้ว่าติดเชื้อ.. แม่ พ่อตา แม่ยาย รวมทั้งพี่สาว น้องสาวของภรรยาผม รู้ว่า เราทั้งคู่ติดเชื้อเอชไอวี 8 เมษายน 2552 วันฟังผลซีดีโฟร์ ประมาณ 9 นาฬิกา ผมโทรไปถามผลตรวจซีดีโฟร์ ทั้งของผมและภรรยา ซีดีโฟร์ของผม 327 เปอร์เซ็นต์ซีดีโฟร์ 23 ส่วนของภรรยา ซีดีโฟ 23 เปอร์เซ็นต์ซีดีโฟร์ 2.3 ของผมยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับยาต้าน ส่วนของภรรยาผมถือว่าต่ำมาก ต้องรับยาต้าน แต่ต้องไปตรวจร่างกายให้ละเอียดก่อน ว่ามีโรคแทรกซ้อนอะไรหรือเปล่า ถ้ามีต้องรักษาโรคแทรกซ้อนก่อน ตรวจดูร่างกายเมื่อพร้อมแล้วจึงค่อยรับยาต้าน อาการภรรยาเหมือนเดิม ซึ่งจากผลการตรวจภายหลังทำให้ทราบว่าอาการที่เธอเป็นคืออาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ภรรยาผมรอไปตรวจอีกครั้งวันที่ 20 เมษายน แต่ผมไม่จำเป็นต้องไป ถามความรู้สึกของผมในวันนั้น ผมยังฝังใจกับคำว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีอยู่.. ยังไม่หายสนิทไปจากจิตใจ เพราะคิดว่าต้องสูญเสียสิ่งต่าง ๆ มากมายไปกับคำว่าติดเชื้อเอชไอวี แล้ววันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังว่า อะไรที่ทำให้ผมปรับความคิดใหม่ได้ นอกเหนือไปจากกระทู้ให้กำลังใจจากสมาชิกบ้านฟ้า

02 กันยายน 2552

เฮ้อ.. ใครว่า เอดส์รักษาได้

ผลจากการตั้งสโลแกนบล็อกว่า "เอดส์รักษาได้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นเพียงผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ยังไม่มียารักษาให้หาย" ผมก็เลยสงสัยว่าถ้าไปค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ลแล้ว ใช้คีย์เวิร์ดว่า "เอดส์รักษาได้" จะได้ผลออกมาเป็นอย่างไร ยังดีนะครับที่อันดับ 1 และ 2 จากการค้นหาเป็นข้อมูลจากเวบบ้านฟ้าของเรา

http://pha.narak.com/topic.php?No=14441 เป็นกระทู้ของ KEN_โสดสำหรับ+ ซึ่งเป็นข้อมูลจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เหมือนกับเนื้อหาในบล็อกของผม

http://pha.narak.com/topic.php?No=19138 และอันนี้เป็นของพี่หนึ่ง เป็นข้อมูลจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย

ทั้ง 2 อันนี้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ค้นหา หลังจากนั้นก็เริ่มเละ ละครับ มีการโฆษณาขายยา ตัวเดียวกับที่เคยเข้ามาโฆษณาในเวบบ้านฟ้า

ใน yahoo! ประเทศไทย รู้รอบ

http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080827032643AArXz8t

แม้แต่คำตอบที่ดีที่สุด เมื่อ 1 ปี มีความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแยกคำว่า "เอดส์" ออกจาก "เอชไอวี" เลยตอบคำถามได้แค่เกือบถูก

ส่วนคำตอบสุดท้าย "Yod the GP" ผมว่าน่าจะเป็นคนที่อยู่ในวงการแพทย์ จึงกล้าฟันธงได้ขนาดนั้น

ขอยืนยันว่าทางการแพทย์แผนปัจจุบัน "ไม่สามารถรักษาได้"

แต่สามารถ "บรรเทาอาการแทรกซ้อน" และ "เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี" ได้ครับ

หากมีข้อมูลหรือเวปไซด์ที่อ้างว่าหมอท่านใดสามารถรักษาได้ "หายขาด" ขอความกรุณาแจ้งแพทยสภา เมื่อพบด้วยครับ

ส่วนถ้าเป็นการรักษาตาม "ความเชื่อ" หรือ "การรักษาแนวใหม่/ แนวผสมผสาน ฯลฯ" นั้น ไม่ขอออกความเห็นครับ เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้ และยังไม่มีการรักษาแนวใด ๆ เหล่านี้มาสร้างงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ตามหลักเหตุและผลให้เห็นครับ

ตามความเห็นของผมคิดว่า...ควรระวังว่า การกล่าวอ้างถึงความสำเร็จของการรักษาคนก่อน ๆ หรือว่าคำพูดของนักวิชาการ ไม่ได้แปลว่ารักษาได้จริง เพราะมีทั้งความบังเอิญ และความลำเอียง ปะปนอยู่ในข้อมูลด้วยครับ

และความคิดว่าติดเชื้อแล้วไม่มีอะไรจะเสียนั้นก็ไม่ถูกครับ ขอให้เลือกใช้เวลาที่เหลืออย่างฉลาดครับ

ผมว่า ถ้าบุคลากรในวงการแพทย์ ยังคิดแบบนี้ โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ อย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างคำว่า "เป็นเอดส์" กับ "ติดเชื้อเอชไอวี" การที่จะรณรงค์ให้คนทั่วไปเชื่อว่า "เอดส์รักษาได้" คงจะทำได้ยาก

เปิดอ่านผลการค้นหาไปเรื่อย ๆ จนไปเจอคำตอบที่ผมชอบมากที่สุด (เปิดมาถึงหน้าที่ 7 ในการค้นหา) มาจาก url นี้ครับ http://www.thaiseoboard.com/index.php?topic=34876.0

กับคำตอบในกระทู้ดังนี้ครับ..

คืออย่างนี้ครับ

ตั้งแต่ที่มีผู้ป่วยเอดส์

AIDS เป็นโรคหนึ่งที่มีการวิจัยเร็วที่สุดในโลกครับ ตั้งแต่ 26 ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้

ผมอยากจะเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมดครับ ที่ว่าเอดส์รักษาไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นความคิดตั้งแต่ 10-20 ปีที่แล้ว

ถ้า คุณเป็นโรคหัวใจ คุณอาจรู้สึกเฉยๆ ถ้าคุณเป็นโรคไตวาย คุณก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าคุณเป็นเอดส์ คุณจะรู้สึกสิ้นหวังทันที แต่ผมจะบอกให้ครับว่า

เอดส์เป็นโรคเรื้อรัง เช่นเดียวกันกับ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวาย ซึ่งรักษาไม่หายเหมือนกัน แต่การรักษาช่วยเปลี่ยนคุณภาพชีวิต และลดภาวะแทรกซ้อนครับ

ผมจะบอกให้ครับว่า ถ้าเอาคนที่ติดเชื้อ HIV กับคนที่เป็นโรคหัวใจ มาเปรียบเทียบกัน คนเป็นโรคหัวใจตายเร็วกว่านะครับ

ถ้าเอาคนที่ติดเชื้อ HIV กับคนที่เป็นโรคไตวาย มาเปรียบเทียบกัน คนเป็นโรคไตวายตายเร็วกว่า

ทุก วันนี้เรารู้วิธีลดโอกาสติดต่อระหว่างแม่สู่ลูก ลงมาต่ำมากเหลือ ร้อยละ 0.5 เท่านั้น ปัจจุบัน มารดาที่ติดเชื้อก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจำเป็นต้องติดเชื้อนะครับ และร้อยละ 0.5 คือกลุ่มที่ขาดยา นั่นหมายความว่า โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจากมารดาแทบไม่มี

ทุกวันนี้มียาที่จะช่วยลดจำนวนเชื้อและกดจำนวนเชื้อไว้ในระดับต่ำมาก ได้ตราบนานเท่านานที่คุณยังคงกินยาอยู่

เช่นเดียวกับ
โรคหัวใจ ถ้าคุณขาดยา คุณก็ตาย
โรคความดันโลหิตสูง ถ้าคุณขาดยา คุณก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์
โรคเบาหวาน ถ้าคุณขาดยา คุณก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวาย

ปัจจุบัน ยาที่ใช้ต้านไวรัสไม่มีการวิจัยใดๆ ที่บอกว่ากดจำนวนเชื้อได้นานที่สุดกี่ปี เพราะยาบางตัวเพิ่งถูกคิดค้นมาไม่ถึง 10 ปีเลยครับ ดังนั้นจึงเป็นข่าวดีครับที่อย่างน้อยจากองค์ความรู้ที่มี คุณสามารถกดจำนวนเชื้อได้ตราบนานเท่านานครับ

ดังนั้นความคิดที่ว่า โรคเอดส์รักษาไม่หาย เป็นเอดส์แล้วต้องตาย จึงเป็นความคิดเมื่อ 20-25 ปีก่อน ปัจจุบัน การติดเชื้อ HIVเทียบเคียงกับโรคเรื้อรังอื่นๆครับ

เปรียบเทียบจนเห็นภาพได้ชัดเจนเลยว่า การติดเชื้อ HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างสมัยก่อน (.. แต่ถ้าไม่ติดได้ก็ดี หุ หุ)

อ่านจบแล้ว คุณ.. ว่า เอดส์รักษาได้หรือเปล่าละครับ


01 กันยายน 2552

เอดส์.. รักษาได้ จากรายการบางอ้อ ตอนที่ 3

แม้ปัจจุบัน ผู้ป่วยเอดส์จะสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ในปัจจุบันมีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วยเอดส์ในอดีตมาก แต่ความเชื่อแบบเดิมที่ว่า เอดส์เป็นแล้วต้องตาย ยังคงอยู่ในสังคมไทย ..เอดส์รักษาได้จริงหรือไม่ แล้วคนเป็นเอดส์จะอยู่ในสังคมได้อย่างไร ติดตามชม บางอ้อ ช่วงนี้ครับ จบชุดนี้แล้ว ยังมีเอดส์รักษาได้ ในรายการเปิดปม ที่เพิ่งออกอากาศไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ติดตามชมต่อได้นะครับ ดูไว้เพื่อเป็นกำลังใจ และเตือนตัวเองให้มีการวางแผนชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป

บล็อกของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • การแพ้ยามีอาการอย่างไร - เรื่อง “การแพ้ยา” เป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการแพ้ยาเป็นอันตราย อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา จึงได้รับความสนใจและเป็นคำถามประจำ ที่ผู้สั่งจ่ายยา...
    11 ปีที่ผ่านมา
  • slow slow...but sure? - ผลเลือดคราวนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของตัวเองเท่าไหร่ ขนาดเช้าวันที่ตรวจกระดกแบรนด์ไป 1 ขวดตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมโลก เขาบอกให้ลองดูสิตัวเลขจะออกมาสวยเชียวล...
    11 ปีที่ผ่านมา